News

หอดูดาวภูมิภาคสงขลา แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกของภาคใต้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียมเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 3 ของไทย ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการที่สำคัญของภาคใต้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิด วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 พร้อมให้บริการประชาชนตั้งแต่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” หรือหอดูดาวภูมิภาคสงขลา เป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ด้วยตำแหน่งที่ตั้งในภาคใต้ บริเวณละติจูด 7 องศาเหนือ ส่งผลให้หอดูดาวแห่งนี้ มีจุดเด่นคือ สามารถศึกษาวัตถุในซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่าหอดูดาวในภูมิภาคอื่น และยังสามารถสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนได้ เนื่องจากสภาพท้องฟ้าของภาคใต้ในเวลานั้นเอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทาง ดาราศาสตร์มากกว่าภูมิภาคอื่น

หอดูดาวภูมิภาคสงขลายามค่ำคืน

อ. เฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า หอดูดาวภูมิภาคสงขลา ไม่เพียงเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกของภาคใต้ แต่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมแห่งแรกของไทย มีพันธกิจในการร่วมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการกำหนดเวลาที่ใช้ในพิธีทางศาสนาอิสลาม อันเป็นการสนับสนุนภารกิจของสำนักจุฬาราชมนตรีอีกด้วย และด้วยทำเลที่ตั้งบนเขารูปช้าง จากหอดูดาวสามารถมองเห็นทะเลสองฝั่ง มีทัศนียภาพที่โดดเด่นสวยงาม คาดว่าจะเป็นแลนด์มาร์คการเรียนรู้ดาราศาสตร์แห่งใหม่ของภาคใต้ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ด้านดาราศาสตร์ให้กับเยาวชน ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สำหรับการเปิดให้บริการ หอดูดาวภูมิภาคสงขลา จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 โดยเปิดให้บริการวันอังคาร – อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

ทั้งนี้ สดร. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ สดร. ก้าวสู่การดำเนินงานเป็นปีที่ 11 ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ในประเทศมากมาย อาทิ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร หอดูดาวแห่งชาติ รวมทั้งกำลังจัดสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยระดับประเทศ ขณะเดียวกันเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์สู่สังคมไทยอย่างทั่วถึง ดึงให้คนไทยสนใจใฝ่รู้วิทยาศาสตร์ และเน้นการให้บริการแก่ประชาชนโดยเฉพาะ สดร. มีแผนจัดสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบ 5 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก ก่อนหน้านี้ ได้เปิดให้บริการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา โดยได้ให้บริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชนในท้องถิ่นและใกล้เคียง สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาและค้นคว้าวิจัย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาค

โครงสร้างหลักของหอดูดาวภูมิภาค ได้แก่ อาคารหอดูดาว ประกอบด้วย โดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต สามารถเปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร อาคารฉายดาว มีโดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดม ดิจิทัล ความละเอียด 25 ล้านพิกเซล ให้บริการท้องฟ้าจำลอง และ 14 โซนนิทรรศการความรู้ดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์

ข้อมูลเพิ่มเติม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ fan page

varietypc

แหล่งรวมความรู้ เทคนิคการใช้งานคอมพิวเตอร์ Microsoft Windows 11, Hardware Reviews, ข่าวสารเทคโนโลยีไอที, ปัญหาคอมพิวเตอร์, notebook ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับมืออาชีพ

View Comments

  • เพิ่งรู้นะเนี่ย เดี๋ยวต้องแวะไปบ้างแล้ว ขอบคุณค่ะ